วันละ 30 นาทีกับแบบฝึกไวโอลิน

การฝึกไวโอลินให้พื้นแน่น ๆ อาจใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้น! ก็ต้องขอขอบคุณ onlineviolineducation.com
ที่เขาช่วยลิสท์รายการฝึกต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้อย่างละ 3 นาทีทุกวัน เพื่อน ๆ ที่อยากเก่ง ๆ ลองฝึกกันตามนี้ดูนะ

violin-35272_960_720

ช่วงแรก (รวม 15 นาที)
– ฝึก shift โดยใช้นิ้วเดิม
– ฝึกการเคลื่อนไหวของนิ้วมือข้างขวา
– ไล่สเกล (เน้นมือซ้าย)
– ฝึกทักษะการสี
– ฝึก vibrato

ช่วงสอง (รวม 15 นาที)
– ไล่สเกล (เน้นมือขวา)
– ฝึกจับฟิงเกอร์บอร์ดหลาย ๆ position
– ฝึก shift โดยสลับนิ้ว
– ฝึกความแข็งแรงของนิ้วนาง
– ไล่สเกลด้วยการสีไปด้วย

สิริรวมครึ่งชั่วโมง ถ้าทำได้เป็นกิจจะลักษณะละก็ จะทำให้เรามีพื้นฐานที่แน่น และทำให้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

6 วิธี เปลี่ยนไวโอลินถูก ๆ ให้เสียงเพราะ

คุณภาพของไวโอลินเป็นเรื่องตามราคา จ่ายถูกจะได้เสียงสุดยอดเท่าของเป็นหมื่น ๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้แน่ล่ะ

violin-1617787_960_720

แต่ยังไงก็ดี ยังพอมีวิธีดี ๆ ที่ช่วยทำให้เสียงไวโอลินถูกดีขึ้นมาในระดับที่สังเกตได้เหมือนกันนะ

1. ใช้สายดี ๆ
เราอาจจะต้องไปลงทุนกับอะไรอย่างอื่น เพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้น สายก็เป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนเพื่อปรับเสียง นอกจากนี้สายยังมีย่านเสียงที่แตกต่างกันไป เลือกที่เข้ากับรสนิยมก็ทำให้รู้สึกว่าเสียงดีขึ้น ตรงใจขึ้นตามนั้นเลย

2. จับคู่กับคันชักคุณภาพ
คันชักที่ราคาแพงหน่อยจะมีองค์ประกอบที่มีคุณภาพ และช่วยเวทเพื่อลดคุณภาพเสียงราคาถูกของตัวไวโอลินลงไปได้

3. จงเล่นให้มาก !
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ประหลาด มันต้องการ ‘การวอร์มอัพ’ ตลอดเวลา ปากต่อปากของนักไวโอลินต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่าไวโอลินยิ่งเล่นมาก ๆ เสียงก็จะยิ่งดี

4. บรรจงเลือกยางสน
ยางสนที่ดีมีคุณภาพ จะทำให้เสียงไวโอลินดีขึ้น นอกจากนี้ ถ้าเลือกยางสนที่เหมาะกับสไตล์ของเรา ก็ยิ่งทำให้ได้เสียงที่ไพเราะและลงตัวขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว

5. เลือกที่วางคางน้ำหนักเบา
เพราะเจ้าที่วางคางนี้ ยิ่งเบาก็ยิ่งดี เพราะการที่มีน้ำหนักมากอาจจะไปกดทับหน้าไม้ไวโอลิน และลดการสั่นของเสียงเอาได้

6. เชคเสมอว่าสายเพี้ยนรึเปล่า
เล่นบนเครื่องดนตรีที่สายเพี้ยนก็เหมือนการโกหกตัวเอง เชื่อเอาว่าเสียงที่เพี้ยน ๆ เป็นเสียงที่ถูก มีปัญหาต่อการจับเสียงในอนาคตได้ นอกจากนี้ขณะสายที่เพี้ยน จะลดคุณภาพในการเปล่งเสียงของไวโอลินด้วย

==========================================
ขอขอบคุณชาแนล The Online Piano and Violin Tutor บน Youtube

ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ musicarms.net/category/content

เริ่มฝึกไวโอลิน พร้อมอุปกรณ์เสริม, มิ้ว

เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อให้เล่นเสียงดัง ๆ “มิ้ว” จึงเป็นทางออกของนักไวโอลิน

ตอนที่คันชักถูกสีลงไปที่สาย การสั่นจะแผ่ไปตามสายลงไปที่สะพานสาย และลงไปภายในช่องว่างของไวโอลิน เกิดเป็นเสียงออกมา
อุปกรณ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อลดการสั่นก่อนจะลงไปที่ช่องว่างในตัวไวโอลิน นั่นก็คือ “มิ้ว”

mute violin

มิ้วที่ยิ่งหนัก (เป็นเหล็ก) จะลดเสียงได้ดี แต่นั่นจะทำให้เป็นภาระต่อตัวไวโอลินและคนเล่นตามไปด้วย ซึ่งยังมีข้อเสียต่อสะพานสาย และหากตกลงไปบนตัวไวโอลิน อูยยย ไม่อยากจะพูด เจ็บตัวทั้งไวโอลิน ทั้งใจเจ้าของ

ฟังข้อเสียอาจจะดูแย่เอามาก ๆ แต่ มิ้ว นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ลดมลพิษทางเสียงต่อเพื่อนบ้านแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะไวโอลินได้ดีอีกด้วย

เนื่องจากเมื่อไวโอลินถูกลดการสั่นของสายลง สิ่งที่เหลือพอจะฟังออกคือ “สำเนียง” ของไวโอลิน และนั่นทำให้เรา
“ไม่ต้องไปพะวงกับความไพเราะเพราะพริ้งของตัวเครื่องดนตรีมาก แต่เจาะลงไปที่การเล่นล้วน ๆ”

ยังไงก็แล้วแต่ การสำรวจไวโอลินเราให้ถ้วนทั่ว ก็เป็นสิ่งจำเป็น และตอนนั้น เราไม่จำเป็นต้องพึ่งเจ้าเหล็กเกาะสะพานสายตัวนี้นัก
เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องหาช่วงของเสียงไวโอลินของเรา หาเนื้อเสียงตามตำแหน่งสีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่วงในการบรรเลงให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

สรุปเลยก็คือ ถ้าอยากหาตำแหน่งในการบรรเลง เมื่อนั้น ไม่ต้องสนใจมิ้วเลย
แต่ถ้าเกรงใจเพื่อนบ้าน และเน้นฝึก “การเล่น” จริง ๆ มิ้วช่วยคุณได้ล่ะ

mute violin

ขอขอบคุณ violinschool.org

4 คำแนะนำสำหรับ การเลือกที่รองบ่าไวโอลิน

การใช้ที่รองบ่าสำหรับเล่นไวโอลิน ช่วยลดภาระของต้นคอ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความถนัดส่วนบุคคลอีกด้วย นักบรรเลงไวโอลินที่โด่งดังมีทั้งที่ใช้ และไม่ใช้เจ้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้

แน่ล่ะ ถ้าคุณเลือกที่จะใช้มันแล้วหรือยังไม่แน่ใจก็ตาม เราจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จะได้ไม่พลาดเสียเงินฟรี ๆ กันไป ถูกไหมเอ่ย? วันนี้เราจะมานำเสนอคำแนะนำในการเลือกที่รองบ่าไวโอลินกัน

FOM ME-032/035

1. ข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องรู้
– ข้อดี: มือใหม่ อาจจำเป็นต้องใช้ที่รองบ่าเพื่อปรับบุคลิกในการเล่นให้เหมาะสม และช่วยลดอาการเจ็บเนื่องจากวางไวโอลินผิดท่าได้
– ข้อเสีย: บางคนว่าการใช้ที่รองบ่า จะลดอิสระในการสื่ออารมณ์บรรเลง จำกัดท่วงท่าในการเล่น และยังพลาด ไม่ได้สัมผัสการสั่นของเสียงบนตัวไม้ไวโอลินอีก (หมดฟีลเลยทีเดียว)

2. ที่รองบ่าแบบไหน ที่เข้ากั๊นเข้ากัน
ที่รองบ่าบางตัวสัมผัสนุ่มกว่า ทำให้รู้สึกสบาย ในขณะที่แบบที่แข็ง ให้ความกระชับมั่นคงได้ดีกว่า และต้องพิจารณาจากรูปร่างช่วงคอ ช่วงไหล่ของคุณ
เพื่อหาที่รองบ่าที่เหมาะกับเราจริง ๆ

3. ไม่อยากเสียกะตังค์ ทดลองดูซะหน่อย
สำหรับบางคนที่ยังไม่อยากลงเม็ดเงินเพื่อซื้อที่รองบ่า อาจจะทดลองใช้ฟองน้ำ หรือผ้าสักชิ้น ติดกับไวโอลินแทนเอาก็ได้ เผลออาจจะไม่ต้องเสียสักแดงเลย ถ้าลองแล้วมันเวิร์ค

4. มีผลกับเสียงไวโอลินไหม
เป็นไปได้ เมื่อที่รองบ่าที่ติดกับไวโอลิน จะไปสัมผัสกับบริเวณหน้าไม้ และจุดนี้เองที่มันอาจจะไปลดการสั่นของเสียงภายในตัวไวโอลินเอาได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้ากลัวเสียงจะผิดเพี้ยนไป เลือกที่รองบ่าที่มีหน้าสัมผัสกับไวโอลินที่น้อย ๆ ก็ยิ่งดี

ถ้าอ่านข้อแนะนำสั้น ๆ ทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว อาจจะช่วยให้เราชั่งใจได้ดีขึ้น ในการจะซื้อที่รองบ่าให้เราได้เลยล่ะ

================================================
ขอขอบคุณ normans.co.uk

เปลี่ยนไวโอลินถูก ๆ ให้ส่งเสียงสวรรค์ด้วยเชื้อรา!!?

เห็นจั่วหัวกันโต้ง ๆ แบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปลองเอาไวโอลินไปจุ่มในน้ำคลองน้ำขังกันเอาเองหรอกนะ 😛

งานนี้นักวิทย์อย่างศาสตราจารย์ Francis Schwarze จากศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีรัฐบาลกลางแห่งสวิตเซอร์แลนด์ เขาใช้เชื้อราสายพันธุ์เฉพาะ
ชื่อ physisporinus vitreus และ xylaria longipes เท่านั้น

funginviolin

‘จารย์แกเห็นว่าไวโอลินชั้นเลิศ ส่วนประกอบจากไม้ที่มีความหนาแน่นต่ำ และยืดหยุ่นสูงเสียงผ่านเร็ว นี่แหละเป็นส่วนประกอบชั้นดีสำหรับไวโอลินคุณภาพสูง พอย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้น ศตวรรษที่ 18
ที่เป็นช่วง ‘Cold Period’ ที่ฤดูหนาวยาวนาน และฤดูร้อนยังคงมีอากาศเย็น สภาพอากาศนี้แหละที่เกลาเนื้อไม้ในป่าให้มีสภาพความหนาแน่นต่ำยืดหยุ่นสูงอย่างช้า ๆ และคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเลือกไม้เหล่านี้ ก็คือ
ช่างทำไวโอลินผู้เลื่องลือระบือนาม ชื่อ Antonio Stradivari ที่เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา ไวโอลินยี่ห้อ Stradivarius ผ่านงานไม้งานมือของช่างผู้นี้ก็กลายเป็นตำนานของสุดยอดไวโอลิน

เพื่อจะเลียนแบบไม้ที่ผ่านสภาพอากาศแบบนั้นในยุคโน้น เชื้อราที่มีคุณสมบัติลดความหนาแน่นของเนื้อไม้ จึงถูดคัดสรรมา แต่นั่นไม่พอ
โชคร้ายหน่อยที่ว่า โดยทั่วไป พวกมันจะดันไปลดสมบัติในการยอมให้เสียงผ่านเนื้อไม้ลงไปด้วย ซึ่งนั่นทำให้เสียงผ่านไปได้ช้าและส่งผลแย่ในการนำไปทำเครื่องดนตรี
แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับ physisporinus vitreus และ xylaria longipes

“ความพิเศษของเชื้อราชนิดจำเพาะพวกนี้ คือ พวกมันค่อย ๆ ย่อยผนังเซลล์และทำให้ผนังเซลล์บางลง แม้จะยิ่งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการย่อยเนื้อไม้ก็ตาม พวกมันยังกลับเหลือความเป็นโครงร่างแข็งของเนื้อไม้ไว้
และนั่นส่งผลให้คลื่นเสียงยังเคลื่อนผ่านได้ดีอยู่” ศาสตราจารย์กล่าว

ถ้าเทคนิคนี้ได้การยอมรับกันละก็ ไม่แน่ว่านอกจากยางสนที่เราต้องใช้มาถูกับสายแล้ว ก็ไม่แน่ว่า เราอาจจะต้องเก็บเชื้อราเอามาขัดไวโอลินของเราด้วยก็เป็นได้นะ :3

==========================================
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก telegraph.co.uk และภาพจาก hardydiagnostics.com

มาดูกันว่า ทำไม อัจฉริยะอย่างไอสไตน์ถึงเล่นไวโอลิน

“โต๊ะ เก้าอี้สักตัว ชามผลไม้สักชาม แล้วก็ไวโอลินอีกตัว จะมีอะไรอีกไหมหนอ เท่าที่คนสักคนจะควานหาเพื่อความสุขได้อีก” — อัลเบิร์ต ไอสไตน์

einst

Albert Einstein ขณะเล่นไวโอลิน

ไอสไตน์นอกจากจะรู้จักกันในฐานะนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแล้ว เขายังเป็นนักเล่นไวโอลินตัวยงอีกด้วย คร้ังหนึ่งเขากล่าวว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ เขาคงจะเป็นนักดนตรีไปแล้ว
ไอสไตน์เปิดเผยเสน่หาที่เขามีต่อดนตรีอย่างชัดเจน เขาคิด เขาฝันกลางวัน เขาใช้ชีวิต อยู่บนโลกของดนตรี และทฤษฎีสัมพัทธภาพอันดังทะลุโลกของเขา ถือกำเนิดมาจากดนตรีที่เขาอยู่กับมันมาทั้งชีวิต

นี่อาจจะฉีกภาพของไอสไตน์ของใครหลาย ๆ คน ภาพของนักคิดที่ควรจะเต็มไปด้วยตรรกะ ระบบระเบียบและเหตุผล กลับแทนที่ด้วยความเชื่อ และความงดงามร้อยเรียงแห่งดนตรีไปซะสิ้น

“ทฤษฎีสัมพัทธภาพดลบันดาลขึ้นมาในใจของผม และดนตรีคือแรงผลักดันให้เกิดสิ่งนั้น พ่อแม่ให้ผมเล่นไวโอลินแต่หกขวบ การค้นพบของผมคือผลลัพธ์จากมุมมองผ่านเสียงดนตรี” ไอสไตน์กล่าว

ในวาระร้อยปีครบรอบการตีพิมพ์งานวิจัยพลิกประวัติศาสตร์ของไอสไตน์ ‘ไบรอัน ฟอสเตอร์ นักฟิสิกส์อนุภาค’ วิจารณ์ความชื่นชอบในตัวโมซาร์ทของไอสไตน์ ว่าเขาเป็นพวก “นิยมขนบเดิม”
และนั่นเป็นที่มาของความคิดรากฐานของไอสไตน์

บทบรรเลงของโมซาร์ทคือภาพของจักรวาลที่ ‘เป็นการประสานกันอย่างลงตัว’ และนั่นเอง ที่ทำไมไอสไตน์ถึงพยายามจะอธิบายเอกภพบนคณิตศาสตร์ที่เรียบง่ายที่สุด ลงตัวที่สุด

ไอสไตน์ติดใจในดนตรีของโมซาร์ท เขาว่า “มันเหมือนราวกับว่า…โมซาร์ทไม่ได้ ‘สร้าง’ บทประพันธ์ของเขาเลย…เขา ‘ค้นพบ’ มันต่างหาก…”

เพราะอย่างนั้น ไอสไตน์ถึงเล่นไวโอลิน ไวโอลินที่บรรเลงเพลงของโมซาร์ท เขาไม่ได้เล่นเพราะโมซาร์ทสร้างบทประพันธ์นั้น แต่เขาเล่นเพราะเขากำลังค้นหาความจริงที่มีอยู่แล้วต่างหาก

จาก 6 ขวบ จนย่างวัยหนุ่ม

ไอสไตน์ค้นพบทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’ ผ่านการบรรเลงบนไวโอลิน

==============================================
ภาพจาก openculture.com
ขอขอบคุณ 99u.com และ openculture.com

แกนสายไวโอลิน 3 ชนิด ต่างกันอย่างไร

สายไวโอลินแต่ละยี่ห้อ แต่ละประเภทให้เสียงที่แตกต่างกัน และปัจจัยหนึ่ง ๆ ที่ควรมองก็คือ แกน ที่ใช้ทำสายไวโอลินนั่นเอง

violin-strings-25474407
ซึ่งสำหรับไวโอลินมีแกนอยู่ 3 ประเภท และมีลักษณะเด่นในแต่ละย่านเสียงต่าง ๆ กันไป เราลองมาดูกันดีกว่าว่า แกนแต่ละแบบให้เสียงสไตล์ไหน ต่างกันอย่างไร

1. แกนไส้แกะ (Gut Core)
อาจจะฟังดูสยอง 😯 แต่ในยุคที่เทคโนโลยีไม่พัฒนา สายเครื่องดนตรีมักทำมากจากไส้แกะเพียว ๆ โชคดีหน่อยว่า สำหรับปัจจุบัน ไส้แกะจะถูกใช้เป็นแกนกลางแล้วพันด้วยเหล็กหมด มีความตึงค่อนข้างน้อย และให้เสียงออกมาช้ากว่าแบบแกนใยสังเคราะห์ ข้อเสียหลัก ๆ เลยคือ เสียงมักจะเพี้ยนบ่อย และมีราคาแพง ให้เสียงที่ค่อนข้างรุ่มรวย ซับซ้อน เหมาะมาก ๆ กับโทนเสียงแนวบาโรค

2. แกนเหล็ก (Steel Core)
ให้เสียงที่ชัด แหลมบาง ให้ย่านเสียงที่แน่นอน เรียบง่าย และเพราะมักพันด้วยเหล็กหลากชนิดขึ้นกะแต่ละเจ้า จึงมีเสียงที่หลากหลายต่างกันไปตามยี่ห้อ เหมาะมาก ๆ กับคนที่เล่นไวโอลินที่ไม่ใช่สายคลาสสิค ทั้งแนวโฟลค์ คันทรี่ หรือแจ๊ส

3. แกนใยสังเคราะห์ (Synthetic Core)
แกนกลางเป็นใยสังเคราะห์ตระกูลไนลอน ให้เสียงคล้ายกับแบบแกนไส้แกะ แต่มีการตอบสนองตอนสี ที่เปล่งเสียงเร็วกว่า และสายไม่เพี้ยนบ่อย น่าเสียดายว่าอาจจะไม่ได้มีเสียงที่รุ่มรวยเท่าแบบแกนไส้แกะ นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลาดแกนใยสังเคราะห์มีความหลากหลาย เนื้อเสียงต่าง ๆ กันไปตามแต่ละผุ้ผลิต

จะเห็นว่าแต่ละแกน มีจุดเด่นด้อยต่าง ๆ กัน ก็เลือกดูให้ดี ๆ เอาให้เหมาะกับสไตล์การเล่นของเราด้วย

ขอขอบคุณ ifshinviolins.com

2 ขั้นตอน เสกกีต้าร์เป็นบันโจ

บันโจ ถือเป็นเครื่องดนตรีสไตล์ลูกทุ่งแบบฉบับฝรั่งมังค่า ให้เสียงตะแหน่วๆ เหมาะมาก ๆ กับฟีลเพลง Country แน่นอนว่าราคาของมันนี่ไม่ได้ถูก ๆ

musician-banjo

จะให้ขวนขวายหาซื้อมาเพื่อเล่นเพลง 2 เพลง ขำ ๆ ก็ดูจะกระไรอยู่ ดังนั้น!
หัวข้อวันนี้ ถือว่าเป็นอะไรสนุกให้ไปทดลองทำกันดู สำหรับคนที่อยากให้กีต้าร์ทำเสียงแปลก ๆ ใหม่ ๆ โดยไม่ต้องลงทุนเสียเงินมากมาย

เริ่มกันเลย

1. จูนสายใหม่
บันโจ มีทั้ง 5 สายซึ่งพบบ่อยที่สุด และ 6 สาย ถ้าจะให้กีต้าร์เป็นบันโจ 5 สาย สาย 6 E ที่อยู่บนสุดจะต้องเอาออก หรือเลี่ยงที่จะเล่น และตั้งสายตั้งแต่สาย 5 ลงไป ดังนี้
G, D, G, B, D
ถ้าเลือกเป็น 6 สาย ก็ไม่ต้องตั้งสายใหม่

แบบ 5 สาย จะได้สไตล์ picking pattern แบบบันโจทั่วไปจริง ๆ

2. ติดตั้งอุปกรณ์เสริม
สำหรับกีต้าร์ไฟฟ้า ให้สอด”ฟองน้ำ” ที่ตัดไว้พอดีสอดใต้สายกีต้าร์บริเวณระหว่างปิ๊กอัพ ตรงนี้ต้องเลือกความหนาให้พอดิบพอดี
สำหรับโปร่ง ให้ยัด”ลูกโป่ง”ก่อนเป่า เข้าไปในโพรงเสียง จากนั้นเป่าทั้งๆที่ลูกโป่งยังคาอยู่ข้างใน จนขนาดลูปโป่งขยายมาชนกับสาย จึงค่อยมัดลูกโป่ง

banjo-trick

ทะด้า….! จากนั้นกีต้าร์ก็จะกลายเป็นบันโจในบัดดล

ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ขี้เบื่อ ไปลองเล่นดู เปลี่ยนเสียงกีต้าร์มาแก้เบื่อกันดูซะหน่อยเป็นไร 😛

==============================================
ขอขอบคุณช่อง LuvABullTN และ davewestwoodMUSIC บน Youtube

Chorus Effect เอฟเฟคที่เสียงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

“เมื่อเลือกจะมีเอฟเฟคคอรัสไว้ในครอบครอง สิ่งที่ต้องถามตัวเองก็คือแนวดนตรีเราเป็นยุคไหน เลือกคอรัสให้เข้ากับแนวของเรา”

Boss CE-20 Chorus Ensemble

เอฟเฟคอย่าง Chorus มักถูกใช้เพื่อทำให้ไลน์ดนตรีมีความหนามากขึ้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของดนตรียุค 80 เลยทีเดียว เสน่ห์ที่เย็นวาบ เสียงดังว้องๆ ของมัน ถือเป็นลักษณะของแนวดนตรีของยุคนั้นเพราะมันถูกใช้อย่างล้นหลาม

แต่…ถึงแม้มันจะเป็นที่นิยมในยุค 80 เอฟเฟคชนิดนี้ก็ปรากฏแก่วงการดนตรีตั้งแต่ยุค 60 ไปแล้ว และถูกใช้โดยศิลปินผุ้ยิ่งใหญ่อย่าง Jimi Hendrix ด้วย

ความตั้งใจแต่เดิมของมันมีเพื่อจะ ‘เลียนเสียง Rotary Speaker’ หรือลำโพงที่ขณะทำงาน ตัวลำโพงจะหมุนไปด้วยพร้อม ๆ กัน ให้เสียงคล้ายออร์แกน
ตัววงจรถูกออกแบบให้แยกสัญญานออกเป็นสองส่วน ส่วนสัญญานกีต้าร์เดิม และสัญญานที่ถูกแปลงความถี่เล็กน้อย ผสมกับเข้าไปกับสัญญานเดิมโดยช้ากว่าเดิมในระดับมิลลิวินาที

แต่ทว่ามันกลับล้มเหลว
ถึงอย่างนั้น มันกลับให้เสียงดัง ‘ว้องๆ’ ที่เป็นลักษณะเฉพาะ กลายมาเป็นแม่แบบของเอฟเฟคตระกูลนี้ในเวลาต่อมา

ในยุค 60 คอรัสจะให้สัมผัสวูบ ๆ วาบ ๆ เสียงมีการ vibrato ทำให้เสียงเพี้ยนไป ๆ มา ๆ เป็นเอฟเฟคตระกูล uni-vibe

ในยุค 70 ให้เสียงในโทนสว่าง ออกคล้าย ๆ เสียงเครื่องเป่าทองเหลือง หาฟังได้จากเอฟเฟคคอรัสจาก Maxon

และในยุค 80 ให้เสียงว้อง ๆ ให้ความรู้สึกเย็นฉ่ำ อย่างใน Boss – Super Chorus

Boss Super Chorus CH-1

ถ้าคิดจะใช้เอฟเฟคชนิดนี้แล้ว เลือกมันให้ตรงกับแนวของเพื่อน ๆ ด้วยนะ นอกจากนี้ก็ทำความเข้าใจกับปุ่มสำคัญต่าง ๆ บน Chorus สองปุ่ม คือ
Depth และ Rate
ปุ่ม Depth ทำให้เสียงจากเอฟเฟคได้ยินชัดขึ้น
ปุ่ม Rate ยิ่งเพิ่ม ยิ่งให้สัมผัสความรู้สึกวิงเวียน

=======================================
ขอขอบคุณช่อง Howcast และ Roland U.S. บน Youtube

เลิกงงกันได้แล้ว! คอร์ดที่มี “/” เค้าเล่นกันแบบนี้

คอร์ดที่มี / เค้าเล่นกันยังไงน้า

น่าจะเคยเจอกันมาบ้าง อย่างคอร์ด C/B อะไรทำนองนี้
มันจะต้องเล่นคอร์ด C เอ๊ะ หรือว่าเล่น B หรือจัดมันทั้งสองคอร์ดพร้อมๆกัน ?

12

วันนี้เราจะมาเฉลยให้ฟัง

คอร์ดที่มี / เช่น C/B C/E G/B ทั้งหลายพวกนี้ มีชื่อเรียกว่า Slash Chord ‘คอร์ดสแลช’
ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ Slash มือกีต้าร์ Guns ‘n Roses ใดๆทั้งสิ้น 😛

ต้องมารู้กันก่อนว่าคอร์ดเกิดจากการเรียงของโน้ตหลาย ๆ ตัวพร้อม ๆ กัน ดังนั้นทุกครั้งที่เราจับคอร์ดจะต้องมี
” โน้ต ที่มีเสียงต่ำที่สุดในคอร์ด หรือก็คือโน้ตที่อยู่ตามสายบน ๆ ของกีต้าร์นั่นเอง เราเรียกว่า ‘โน้ตเบส’ ”

การเขียนว่า C/B อย่างนี้เป็นต้น คือ การบอกว่า จับคอร์ด C โดยให้โน้ตต่ำสุด(โน้ตเบส) เป็นโน้ต B นั่นเอง

การจะจัยคอร์ดประเภทนี้ได้ถูกต้อง จะต้องรู้ว่า โน้ตบนคอกีต้าร์มีอะไรบ้างนั่นเอง ยกตัวอย่าง C/B จะต้องจับ
e–0–
b–1–
g–0–
d–2–
a–2–
E–x–

จะเห็นว่าที่สาย 5 เราจะกดเฟรต 2 แทนที่จะเป็น 3 อย่างในคอร์ด C ทั่ว ๆ ไป
โดยเฟรต 2 สาย 5 คือโน้ต B

มาชมอีกตัวอย่าง คอร์ด C/G
e–0–
b–1–
g–0–
d–2–
a–3–
E–3–

เราเพิ่มโน้ตที่เฟรต 3 สาย 6 เข้าไป ซึ่งเป็นโน้ต G

มาถึงตรงนี้ มือใหม่ อาจจะงง หรือตัดพ้อเอาว่า ‘โอ้ย ก็ฉันจำโน้ตบนคอไม่ได้นี่นา งั้นเลิกเล่นเพลงนี้ไปเลยละกัน คอร์ดยาก…’

โนวววว ในดนตรีเรามีการประนีประนอมเสมอนาจาา ซึ่งก็คือ

เลิกสนใจ โน้ตเบส ไปซะ!
อย่าง C/B หรือ C/G ก็เล่นแค่ C, G/B ก็แค่ G ก็พอ ตรงนี้ก็พอกล้อมแกล้มไปได้

หรือ ถ้าคุณมีวงเล่น
ก็ให้มือเบสเป็นคนกด โน้ตเบส แทน

วันนี้ก็จบไปกับคอร์ด / ซึ่งไม่ได้ยากเลย แต่ต้องรู้จักโน้ตบนคอกีต้าร์เท่านั้นเอง ถ้าใครอยากจะให้เป๊ะ ๆ ก็ลองจำโน้ตบนคอ แล้วกดกันให้ถูกต้องดูกันเนอะ

ขอขอบคุณภาพจาก guitarnoise.com

5 ขั้นตอนทำซาวด์ Psychedelic ด้วย Gibson SG

ดนตรีแนว Psychedelic เป็นแนวดนตรีที่เกิดในช่วงยุค 60 ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์การใช้สารเสพติดอย่างกัญชา มาตีความให้อยู่ในรูปของประสบการณ์ทางดนตรี เป็นแนวดนตรีที่นักดนตรีสมัยนี้หันกลับมาทำกันอยู่บ่อย ๆ

ซึ่งถ้าอยากจะทำซาวด์อย่างศิลปินดังที่เค้านำซาวด์ไซคะเดลิคกลับมาทำใหม่ ควรมองหาตัวอย่างระดับบรมครูมาศึกษา ซึ่งก็นะ คงหนีไม่พ้น Eric Clapton มือกีต้าร์พระกาฬในช่วงฟอร์มวง Cream ไปไม่ได้

Clapton ในสมัยนั้นถือเป็นแนวหน้าในดนตรีไซคะเดลิคเลยทีเดียวถึงขนาดที่ว่า Gibson SG ของเขาที่ชื่อ ‘The Fool’ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีแนวนี้ไปเลย

เสียง SG ของ Clapton มีชื่อเรียกกันว่า ‘Woman Tone’ หรือ ‘สำเนียงสาว’ ที่แม้จะออกแป๋นๆ แต่ก็มีทึบทึมในตัว เป็นเอกลักษณ์เอามากๆ

sg faded 2016 T

sg faded 2016 T

เรามาลองดูขั้นตอนการทำเสียงสไตล์นี้ดู
1. ใช้สวิทช์ Pickup ตรงกลาง

2. หมุนปุ่มโทนทั้งสองให้ต่ำสุด

3. Volume ของ Pickup สะพานอยู่ที่ 6-7 ส่วน Pickup คอ เปิดให้สุด

4. ใช้หัวแอมป์ Marshall เปิดโทนทุกตัวสุดหมด

จุดนี้เราจะได้ซาวด์คล้ายๆ Clapton แล้ว เราอาจจะเพิ่มความไซคะเดลิคเข้าไปได้อีก

5. โรยหน้าด้วยเอฟเฟค Tremolo หรือ Reverb ด้วย

ถ้าใครมี SG อยู่แล้วคงได้ซาวด์ออกมาใกล้เคียงเลย แต่ใครจะลองกับกีต้าร์ตัวอื่นก็ไม่ว่ากัน

นี่คงพอจะเป็นไอเดียเล็กๆ ให้เอาไปทดลองกันต่อ เผื่อจะได้ซาวด์ไซคะเดลิคแบบของตัวเองกันบ้าง
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Gibson และ Dave Hunter