หยุดฝึกก่อนดีไหม ถ้าคุณมีพฤติกรรมแบบนี้!

‘ผลจากการวิจัย* พบว่า การทำอะไรซ้ำ ๆ ทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้แย่ลง!’

ภาพจาก shutterstock

ภาพจาก shutterstock

ตามที่เค้าวิจัยออกมา อาจจะจริงอยู่ว่าการจะจดจำอะไรสักอย่างหนึ่งย่อมมาจากการที่เจอกับมันซ้ำ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการจำแนงแจกแจงสิ่งคล้าย ๆ กันดันแย่ลงไปซะเฉย ๆ
นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราควรจะเลิกพฤติกรรมการฝึกที่วนเวียนอยู่กับการทำซ้ำ ๆ ต่อไป อย่าง

1. ทำตัวแบบเทปบันทึกเสียงเจ๊งกะบ๊ง
บางคนพยายามเล่นให้เป๊ะ ด้วยวิธีซ้อมแบบเล่นท่อนเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่ tempo ระดับเดิม

2. เข้าโหมดพลขับอัตโนมัติ
หรือบางคนตะแบงเล่นเพลงจนจบเพลง จะผิดจะถูกไม่รู้ แต่ต้องเล่นมันจนจบให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าวิธีนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเอาซะเลย ข้อดีของมันคือ มันทำให้เรามองเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือการค่อย ๆ แกะทีละท่อน และบรรลงเล่นอย่างละเอียดลออ
ถ้าเกิดว่าจมอยู่กับการเล่นมุดหัวจมท้ายไปจนจบ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย เปลืองเวลาและพลังชีวิตโดยใช่เหตุ

3. เคล้าสองวิธียอดแย่ข้างต้นเข้าด้วยกัน
นี่คืออภิมหาคอมโบประลัย ของการฝึกยอดแย่สองอย่างผสมกัน เล่นแบบมุทะลุไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจนจบเพลง ซ้ำยังไม่พอเล่นมันซ้ำ ๆ เหมือนบันทึกเทปเสียติดลูป

ผลจากทั้ง 3 ข้อคือ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสียกับเสีย, เสียที่หนึ่ง เสียเวลาชีวิต เพราะการฝึกเหล่านี้เป็นการทำซ้ำ ๆ ที่เสี่ยงทำให้อาจเกิดอาการ’ติด’วิธีเล่นผิด ๆ จนแก้ได้ยาก และอาจจะต้องมาเสียเวลาแก้อีก
สอง เสียความมั่นใจ การทำซ้ำ ๆ ลวก ๆ ทำให้เราไม่เข้าใจว่าส่วนยิบส่วนย่อยนั้นมันเล่นเป๊ะ ๆ ยังไงกันแน่ มันทำให้เราไม่กล้าโชว์พาวมาก เสียเซลฟ์ที่สุด
สาม เสียทักษะการเรียนรู้ จากที่จั่วหัวไว้เลย ตามนั้น

และควรทำยังไงล่ะที่นี้?

อีกงานวิจัย** หนึ่งกล่าวว่า ยิ่งเรามีความรู้ที่ ‘กว้าง’ มากเท่าไหร่ ยิ่งจะเป็นเรื่องง่ายในการดึงองค์ความรู้ออกมาจากสิ่งที่พบเจอ

ดังนั้นเราควรจะมี ‘การฝึกอย่างสุขุม’ นี่คือ การเพิ่มความ ‘กว้าง’ ให้กับการฝึก นี่ต่างหาก ไม่ใช่การทำซ้ำ ๆ ซึ่งก็ด้วยการ
– ฝึกอย่างช้า ๆ บรรจง ทำซ้ำ ๆ ให้น้อยที่สุด
– ลงรายละเอียดทีละตัวโน้ต เลือกเฟ้นวิธีที่จะ’บรรยาย’โน้ตแต่ละตัวออกมา กระแทกเกินไป? เบาไป? จะให้โน้ตยาวแค่ไหน?
– พยายามหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะพัฒนารายละเอียดแต่ละอย่าง

จะเห็นว่าการฝึกแบบนี้จะเพิ่มความ ‘กว้าง’ ในการบรรยายรายละเอียดลงไปที่แต่ละโน้ต ๆ ไป และเน้นที่ความเป็นตัวเอง ความพอใจในทักษะการยรรยายทางดนตรีของเราเอง

การฝึกที่ทำอะไรซ้ำ ๆ มีแต่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเรา ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้แย่ กลับกันการฝึกแบบสุขุม ลงรายละเอียด เลือกสรรบรรจงใส่ด้วยเทคนิคที่กว้าง และใหม่ตลอดเวลา จะสอดรับกับลักษณะการเรียนรู้ที่ผลวิจัยประเมินว่าแล้วว่าดีที่สุด

ลองหันมาฝึกแบบนี้กันดูนะ 😉

==============================================
*Zachariah M. Reagh และ Michael A. Yassa – Repetition strengthens target recognition but impairs similar lure discrimination: evidence for trace competition
**Radboud University Nijmegen – How the brain builds on prior knowledge

ขอขอบคุณ lifehacker.com และ sciencedaily.com

มารู้จักกับ 3 พี่น้องแห่งเอฟเฟค Tremolo

‘เอฟเฟค Tremolo มีอยู่ 3 ประเภท แต่ละประเภทให้เสียงคนละฟีลลิ่งกัน’

ถือเป็นเอฟเฟคที่มีความเก่าสุด ๆ ชนิดหนึ่งเลยทีเดียว มันปรากฏครั้งแรก ๆ ในช่วงยุค 60 ซึ่งมาพร้อมกับฟังก์ชันติดกับแอมป์ ก่อนที่จะถูกบรรจุลงก้อน ๆ อย่างทุกวันมานี้ Tremolo จะให้เสียงแบบกระตุก ๆ เป็นห้วง ๆ ซึ่งให้ฟีลลิ่งแบบเก่า ๆ เพราะมักถูกใช้ในเพลงเก่าบ่อยมาก การจั่วหัวว่าสามพี่น้องคงจะไม่เห็นผิดนัก เพราะทั้งสามตัวมากันคนละปี คลานตามกันมาติด ๆ เราจะมาดูกันว่า Tremolo สามพี่น้อง มีลักษณะต่างกันยังไงบ้าง

BOSS TR-2 TREMOLO

1 Harmonic Tremolo
พี่ใหญ่ ผลิตในปี 1961 มากับแอมป์ Brownface ของ Fender ถือเป็นเอฟเฟคหายาก และอายุสั้น (ถูกเปลี่ยนด้วย Tremolo แบบอื่นไป) เนื่องจากวิธีทำงานที่ยุ่งยาก ด้วยการแบ่งสัญญานเสียงเป็นสองภาค แทรกคลื่นความถี่ต่ำ (LFO) ที่สัญญานแรกซึ่งลูกกรองให้เหลือแต่ย่านเสียงสูง ส่วนอีกสัญญานที่ถูกกรองเหลือย่านต่ำก็แทรกเหมือนกันแต่เป็นคลื่นที่กลับหัวกลับหางจากแบบแรก จากนั้นนำสัญญานสองภาคมารวมกัน ผลที่ได้คือการเน้นย่านเสียงสูง เสียงต่ำ วูบวาบสลับกันไป เป็นเอฟเฟคยำใหญ่ใส่สารพัด เป็นทั้ง Tremolo ก็ไม่ใช่ Vibrato ก็ไม่เชิง Phaser ก็ไม่ชัด

2 Bias Tremolo
น้องรอง ผลิตในปีช่วง 1963 พบในแอมป์หลอด อย่าง Vox ในช่วงแรก ๆ ลูกคลื่นเป็นห้วง ๆ มาจากการปรับกระแสไบแอสกับหลอดสุญญากาศ ซึ่งข้อเสียคือจะทำให้แอมป์อายุสั้น Tremolo นี้ให้คลื่นที่รุ่มรวยนิ่งลึก เป็นเหมือนของเหลวไหลเป็นก้อน ๆ ให้เสียงคล้ายพวกเอฟเฟคตระกูล Uni-vibe
ข้อดีของ Tremolo แบบนี้ ก็คือสัญญานเสียงที่วิ่งตามสายจะไม่ผ่านวงจรใดเลย ๆ และนี่ทำให้ได้เสียงที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ

3 Optical Tremolo
น้องคนสุดท้อง ผลิตในช่วง 1965 มากับแอมป์ Blackface ของ Fender เจ้าเก่า เป็นสัญญานเสียงที่ผ่านวงจร Tremolo ที่ข้างในถูกออกแบบมาให้มีตัวรับสัญญานแสง และหลอดไฟที่ถูกตั้งค่าให้ค่อย ๆ สว่างและค่อย ๆ ดับ ตัวรับสัญญานแสงจะตอบรับกับความสว่างของหลอดไฟ และทำให้สัญญานเสียงดังขึ้นหรือลดลงตามความสว่างมากน้อย
ค่อนข้างจะให้เสียงที่หยาบกว่าและไม่ลุ่มลึกเท่ากับพี่ทั้งสองข้างบน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ Tremolo แบบ Square Wave

อยากได้สไตล์วินเทจอาจจะต้องมองหาแบบ Harmonic หรืออยากได้แบบสัญญานราบเรียบคงต้อง Bias แต่ถ้าสมัยใหม่ กระตุกหนัก ๆ แบบเพลง Dance แบบ Optical คือคำตอบของเรา ๆ เลย
ถ้ากำลังมองหาเอฟเฟค Tremolo อยู่ ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ จะได้เลือกซาวด์ที่เหมาะเจาะกับเรา ๆ ได้นะ

=======================================
ขอขอบคุณ carlscustomamps.com, strymon.net และ premierguitar.com

9 แอปส์เด็ด! สำหรับฝึกเล่นไวโอลินโดยเฉพาะ

หาคนสอนเหรอ หรือหาคู่มือ น่าเบื่อเกินไปหรือเปล่า ลองพึ่งเทคโนโลยีหน่อยไหม วันนี้เราขอเสนอแอปส์เด็ด ๆ 9 แอปส์ ทั้งฟรีและไม่ฟรี ที่จะมาช่วยเพื่อน ๆ หัดไวโอลินกัน

หัดเล่นไวโอลินผ่านแอปส์

ถ้าบน iPhone
-Classical Violinist (ฟรี)
เป็นการเรียนการสอนผ่านเกมสนุก โดยจะมีเพลงคลาสสิคต่าง ๆ มาให้เราทดสอบ โดยการกดตำแหน่งฟิงเกอร์บอร์ดลงไปบนจอ ช่วยฝึกจำตำแหน่งโน้ตได้เป็นอย่างดี

-Learn Violin by Inside.com Inc (เสียเงิน)
ถือว่าดีมาก ๆ สำหรับมือใหม่ มีการสอนทักษะการตั้งสาย และใส่สาย ลงรายละเอียดลึกเรื่องท่าจับถือไวโอลินที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ติดตัวแบบผิด ๆ ไป ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องรู้ รวมถึงวิธีการดูแลไวโอลินอีกด้วย

-nTune: Violin Free (ฟรีตามชื่อ)
ข้อดีคือให้เสียงที่บันทึกเสียงไวโอลินมาจริง ๆ เป็นแอปส์ที่ผสานการเรียนรู้และการจูนเสียงไวโอลินเข้าด้วยกัน โดยให้จูนผ่านการฟังเสียงโน้ตบนสายแต่ละสาย มีเสียงทั้งแบบดีดสายและสีสาย

-Violin Flash Cards (เสียเงิน)
ตอบสนองต่อผู้ใช้ด้วยภาพบนการ์ด ช่วยกระตุ้นการจดจำตำแหน่งกดโน้ต การ์ดด้านหน้าแสดงชื่อโน้ต เมื่อพลิกกลับเพื่อดูเฉลย จะแสดงตำแหน่งกดบนฟิงเกอร์บอร์ดมาให้ มีตารางอ้างอิงเสียงโน้ตพร้อมตำแหน่งกด เอาไว้หัดจำหัดฟัง

หรือบน Android
-Violin Notes by BrainMelody (เสียเงิน)
ใช้ฝึกจำตำแหน่งโน้ตบนคอไวโอลิน มีภาพตำแหน่งโน้ตบนคอและบนตารางห้าเส้น มีเสียงโน้ตให้ฟัง ช่วยให้ผู้เรียนจำตำแหน่งได้เร็วและง่าย

-Violin Lesson Tutor from AMS Music (ฟรี)
เรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมคลิปการสอนที่ลิงค์กับ Youtube สอนเทคนิคต่าง ๆ มีโน้ตดนตรีให้ปรินท์มาเล่นอีกด้วย

-Violin by Egert (ฟรี)
เสียที่ว่าเสียงที่ออกมาจากแอปส์ฟังดูเป็นเสียงสังเคราะห์ไปหน่อย แต่ก็มีระบบเด็ด ๆ ไม่แพ้ Violin Notes ที่ต้องเสียเงินเลย ตำแหน่งจับกดโน้ตแสดงได้ละเอียด ดูง่าย

-Music Tutor Sight Read by VirtualCode.es (เสียเงิน แต่มีเวอร์ชันฟรีด้วย)
สำหรับผู้เรียนที่สนใจการฝึกอ่านเขียนโน้ต ผ่านแบบฝึกหัดที่กว้างตั้งแต่โน้ตช่วง Treble ยัน Bass

-Smart Chords and Tools by Schule Martin (ฟรี)
แอปส์แสดงคอร์ดที่สามารถเล่นได้บนเครื่องดนตรีเครื่องสายแทบทุกชนิด รวมถึงไวโอลินด้วย มีข้อมูลสเกล และตำแหน่งจับคอร์ดบนคอ จูนเนอร์และเมโทรโนม แบบฝึกหัดแยกเสียงโน้ต รวมถึงฟีเจอร์อื่น ๆ อีกมาก จัดระดับผู้ใช้เป็นเลเวลตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงผู้เล่นที่มีประสบการณ์พอตัว

=======================================
ขอขอบคุณ connollymusic.com